เมื่อวันอังคารที่ 17
ธันวาคม 2567 เวลา 09.00-11.00 น. ณ ห้องประชุม 9 ชั้น 2 อาคารสารนิเทศ 50 ปี
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร. ครศร ศรีกุลนาถ
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและความเป็นสากล พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและคณาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิรเมธ ช้างคล่อม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์
คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วันดี เกษมสุขพิพัฒน์ รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์
คณะศึกษาศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกรียงไกร สถาพรวานิชย์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน
คณะประมง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิตราภรณ์ ฟักโสภา ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง
นางสาวปรารถนา ถิรเกียรติคุณ หัวหน้างานความร่วมมือและเครือข่ายระหว่างประเทศ
และบุคลากรกองวิเทศสัมพันธ์ ได้ให้การต้อนรับคณะผู้บริหารจาก Iloilo
Science and Technology University (ISAT U) และ Philippine
Association of State Universities and Colleges ประเทศฟิลิปปินส์ นำโดย
Dr. Hilario S. Taberna Jr. Senior Faculty Researcher พร้อมคณะจำนวน
14 ราย ในโอกาสเยือนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่างเป็นทางการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับงานวิจัยด้านนวัตกรรมอาหารและเทคโนโลยีระหว่างสองสถาบัน
..
ในการต้อนรับครั้งนี้ รองศาสตราจารย์
ดร. ครศร ศรีกุลนาถ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและความเป็นสากล ได้กล่าวต้อนรับคณะผู้บริหารจาก
ISAT
U และ Philippine Association of State Universities and
Colleges ประเทศฟิลิปปินส์ พร้อมนำเสนอวีดิทัศน์แนะนำข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในภาพรวมของการเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ
(Comprehensive University) ในด้านต่างๆ จากนั้น Dr. Hilario S. Taberna Jr. ได้กล่าวขอบคุณสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่น
และแสดงความหวังว่าการหารือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการและกิจกรรมอื่น
ๆ ระหว่างสองมหาวิทยาลัย ตามด้วย Dr. Jeannette Bayona, Director,
Advancement and Linkages/SIAP, ISAT U ได้นำเสนอข้อมูลระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศฟิลิปปินส์
(Higher Education System in the Philippines) และการแนะนำตัวของคณะเยือนจาก
ISAT U และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในโอกาสนี้ คณะผู้บริหารและคณาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ และคณะประมง ได้เข้าร่วมหารือความเป็นไปได้ในความร่วมมือด้านต่างๆ
ในอนาคต รวมทั้งตอบคำถามในทางวิชาการ วิจัย การแลกเปลี่ยนนิสิตและนักศึกษา โอกาสด้านทุนการศึกษาและการฝึกงาน
การร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรม (Research
Collaboration and Innovation) การเปรียบเทียบมาตรฐาน (Benchmarking) การวิจัยเพื่อความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม (Sustainability and
Environmental Research) เป็นต้น
..
ในระหว่างการประชุม คณาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้แนะนำกิจกรรมวิจัยและโครงการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมอาหารและเทคโนโลยี
รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ
ที่สนับสนุนการศึกษาและการวิจัย ขณะที่คณะผู้บริหารจาก ISAT U ได้แสดงความสนใจในโอกาสความร่วมมือด้านการวิจัย การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้
การฝึกอบรมบุคลากร
และการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากรระหว่างสองมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ยังได้มีการหารือถึงแนวทางการดำเนินโครงการวิจัยร่วมกัน โดยเน้นไปที่การแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร
ความยั่งยืน และโภชนาการ
ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ
..
การเยือนครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และ
ISAT
U โดยทั้งสองสถาบันได้แสดงความตั้งใจร่วมกันที่จะพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการในระยะยาว
รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมและการวางแผนกิจกรรมความร่วมมือในอนาคต
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และ ISAT U เชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมศักยภาพด้านการวิจัย
การเรียนการสอน และการพัฒนาบุคลากร
รวมถึงสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและประเทศฟิลิปปินส์ในเชิงวิชาการ
..
ภายหลังการหารือ รองศาสตราจารย์
ดร. ครศร ศรีกุลนาถ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและความเป็นสากล
ได้มอบของที่ระลึกแก่คณะผู้บริหารจาก ISAT U เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพระหว่างสองสถาบัน
พร้อมถ่ายภาพร่วมกันเพื่อเป็นที่ระลึก ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญสู่ความสำเร็จของความร่วมมือทางวิชาการในอนาคตระหว่างมหาวิทยาลัยทั้งสอง
..
Iloilo Science and Technology
University (ISAT U) เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำในประเทศฟิลิปปินส์ที่มุ่งเน้นด้านวิทยาศาสตร์
เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคและประเทศ
มหาวิทยาลัยมีความโดดเด่นในงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เทคโนโลยี
และการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและอุตสาหกรรม