มก. จัดการแข่งขัน Pitching “3-minute Ideation for Carbon Action Challenge” ประจำปี 2567

มก. จัดการแข่งขัน Pitching “3-minute Ideation for Carbon Action Challenge” ประจำปี 2567

 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม 2567 เวลา 15.00-17.30 น. ณ ห้องประชุมรวงข้าว อาคารวชิรานุสรณ์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน มก.จัดการแข่งขัน Pitching “3-minute Ideation for Carbon Action Challenge” รอบชิงชนะเลิศ ประจำปี 2567 การแข่งขันนี้เป็นการแข่งขันภายใต้ งานประชุมวิชาการนานาชาติ ASEAN+3 Carbon Action in Natural Resources and Environment ประจำปี 2567 ที่เปิดพื้นที่ให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศไทย กลุ่มละ 2-4 คน นำเสนอไอเดียทางธุรกิจที่จะช่วยแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Emission) อันนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) โดยได้รับเกียรติจากคณะกรรมการฯ ผู้มากความสามารถจำนวน 4 ท่าน ได้แก่ ผศ.ดร.อรช กระแสอินทร์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รศ.ดร.สุชาติ เหลืองประเสริฐ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผศ.ดร.ยอดมนี เทพานนท์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนามาตรฐานและยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ คณะบริหารธุรกิจ และ Mr. Mike Darnell ผู้อำนวยการบริษัท Vimi.co ซึ่งได้ร่วมกันตัดสินผลงานจากกระบวนการแก้ไขปัญหา ผลกระทบต่อสังคม กลวิธีการนำเสนอ และทักษะการตอบคำถามของผู้เข้าแข่งขัน


เวลา 15.00 น. รศ.ดร.วราภา มหากาญจนกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดการแข่งขัน และกล่าวต้อนรับผู้เข้าแข่งขัน รวมถึงผู้เข้าชมทุกท่าน การแข่งขันเริ่มเวลา 15.15 น. โดยการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศนี้ มีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าร่วมทั้งสิ้น 12 ทีม จากทั่วประเทศไทย ภายหลังจากการแข่งขันเสร็จสิ้น จึงเป็นช่วงประกาศรางวัล โดย ผศ.ดร.กอบศักดิ์ วันธงไชย ประธานงานประชุมวิชาการนานาชาติ ASEAN+3 Carbon Action in Natural Resources and Environment ประจำปี 2567 ให้เกียรติเป็นผู้มอบรางวัล และปิดการแข่งขันด้วยการถ่ายภาพหมู่ร่วมกันเป็นที่ระลึก รายละเอียดรางวัล มีดังนี้


รางวัลชนะเลิศ จำนวน 1 รางวัล รับเงินรางวัล 12,000 บาทพร้อมประกาศนียบัตร: ทีม “Helical Savonius Wind Turbine” จากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่

รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง จำนวน 1 รางวัล รับเงินรางวัล 10,000 บาทพร้อมประกาศนียบัตร: ทีม “Hummingbird” จากโรงเรียนสตรีภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง จำนวน 1 รางวัล รับเงินรางวัล 8,000 บาทพร้อมประกาศนียบัตร: ทีม “MYCEE” จากโรงเรียนสตรีภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล รับเงินรางวัลละ 5,000 บาทพร้อมประกาศนียบัตร: ทีม “Phoenix Drone” จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช และทีม “The Future Environmental Apocalypse Alliance” จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) กรุงเทพมหานครฯ


อนึ่ง การแข่งขันในครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน


 



ข่าวและกิจกรรม