เมื่อวันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน
2565 เวลา 09.30 – 12.00 น. ณ
ห้องประชุมธีระ สูตะบุตร ชั้น 2 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.
จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนาการประมูลสิทธิ์และการจัดประชุมนานาชาติ จัดโดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ
(องค์การมหาชน) (สสปน.) ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) (TICA) เพื่อร่วมแลกเลี่ยนแนวทางและประสบการณ์ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย
คุณนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการอาวุโส สสปน. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กอบศักดิ์
วันธงไชย คณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศศิธร
ตรงจิตภักดี รองคณบดีกิจการพิเศษ คณะอุตสาหกรรมเกษตร คุณสุเมธ สุทัศน์ ณ อยุธยา
นายกสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) คุณนุช หอมรสสุคนธ์
ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (สสปน.) และอาจารย์แคตเทอรีนแอน สารสิน ตุงคสวัสดิ์
อดีตอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา
ด้วย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี มีพันธกิจหลักในการส่งเสริมการจัดประชุมองค์กร การจัดประชุมนานาชาติ การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล การจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการ และการจัดกิจกรรมพิเศษทางการตลาด หรือการจัดงานหรือกิจกรรมอื่นในลักษณะเดียวกัน อนึ่ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมในการประมูลสิทธิ์และการจัดประชุมนานาชาติ อีกทั้งมีคณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่เน้นเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG (Bio-Circular-Green) Economy รวมถึงยังมีสาขาวิชาอื่นที่จะช่วยต่อยอดองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพของประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น อันจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการจัดประชุมนานาชาติอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต สสปน. จึงได้จัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจในการสนับสนุนการประ มูลสิทธิ์และการจัดประชุมนานาชาติ และเผยแพร่บทบาทของ สสปน. และพันธมิตรในอุตสาหกรรมการจัดประชุมนานาชาติ รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคณาจารย์และบุคลากรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับ สสปน. เพื่อร่วมกันช่วยผลักดันให้เกิดการประมูลสิทธิ์และการจัดประชุมนานาชาติในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย
การเสวนาได้กล่าวถึงการประมูลสิทธิ์และการจัดประชุมนานาชาติในประเทศไทยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาทิ TCEB โดย Professional Conference Organizer (PCO) และคณะ ร่วมกับคณะทำงานเพื่อจัดเตรียมข้อมูลและเอกสารประกอบการยื่นประมูลสิทธิ์จัดประชุมวิชาการนานาชาติ IUFRO 2029 โดยคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ 8th Shelf Life International Meeting (SLIM 2017) โดยคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และล่าสุด The International Association of Horticultural Producers (AIPH) ได้ประกาศการคัดเลือกอย่างเป็นทางการ ให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นการส่งเสริมให้เกิดการประมูลสิทธิ์และการจัดประชุมนานาชาติมากขึ้น อีกทั้งเป็นการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไมซ์ที่เป็นมืออาชีพ ในหลากหลายมิติและหลากหลายโครงการ ดร. จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หวังว่าการสนับสนุนการจัดประชุมนานาชาติของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับพันธมิตรเหล่านี้ จะช่วยให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ส่งเสริมเศรษฐกิจและความยั่งยืนต่อไป
ในการนี้ สสปน. ได้หารือกับกองวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำหนดจัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในวันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน 2565 เวลา 09.30 – 12.00 น. ณ ห้องประชุมธีระ สูตะบุตร ชั้น 2 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีกำหนดการ ดังนี้
10.00 – 10.05 น.
กล่าวต้อนรับและเปิดงาน โดย ดร. จงรัก วัชรินทร์รัตน์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
10.05 – 10.10 น. กล่าววัตถุประสงค์ของการจัดงาน
โดย คุณนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการ สสปน.
10.10 – 10.45 น.
แนะนำบทบาทของ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ
สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย)
10.45 - 11.00 น. ช่วงถาม-ตอบ
11.00 – 11.40 น. เสวนาการแบ่งปันประสบการณ์การประมูลสิทธิ์และการจัดประชุมนานาชาติ
11.40 – 12.00 น. ช่วงถาม-ตอบ
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) หรือทีเส็บ เป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่มีหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งทีเส็บประสบความสำเร็จในการจัดตั้งประเทศไทยให้เป็นจุดศูนย์กลางอีเวนต์ทางธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยการให้การสนับสนุนอีเวนต์ทางธุรกิจ โดยหนึ่งในพันธมิตรที่สำคัญคือ สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) หรือทีก้า Thailand Incentive And Convention Association (TICA) สมาคมที่ส่งเสริมการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการแก่ผู้จัดการประชุมและนิทรรศการนานาชาติ และส่งเสริมเผยแพร่ให้ประเทศไทยมีรายได้จากต่างประเทศโดยการชักชวนให้หน่วยงานองค์กร หรือสถาบันจากต่างประเทศเลือกประเทศไทยเป็นที่จัดประชุมและนิทรรศการนานาชาติและมีผู้เข้าร่วมงานเดินทางมาสู่ประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
ทีเส็บ เป็นองค์กรรัฐที่ส่งเสริมการจัดประชุมสัมมนา การสนับสนุนส่งเสริมและผลักดันให้สมาคมวิชาชีพในประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการไมซ์ ยื่นการประมูลสิทธิ์จัดงานประชุมนานาชาติ (Convention Bid Support) เพื่อเพิ่มจำนวนงานประชุมนานาชาติในประเทศ และเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมจากต่างประเทศ โดยจะเน้นการสนับสนุนการประมูลสิทธิ์และการจัดงานประชุมนานาชาติขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น โดยทีเส็บตระหนักถึงนโยบายเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลและมุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมที่สำคัญ 10 อุตสาหกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของนานาชาติและเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตผนวกกับ Thailand Sustainable Event Management Standard : TSEMS เพื่อตอบรับกับกระแสโลกที่มุ่งเน้นธุรกิจใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม การจัดงานปลอดก๊าซเรือนกระจกสำหรับการจัดงานทุกประเภท สอดคล้องแนวคิด BCG Economy Model ของรัฐบาล โดยทีเส็บจะช่วยสนับสนุนและอำนวยความสะดวกของอุตสาหกรรมไมซ์และการประชุมนานาชาติ และงานแสดงสินค้าในไทยให้เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการเปิดประเทศและเร่งกระตุ้นให้เกิดการจัดกิจกรรมไมซ์ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย