เมื่อวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 9.00 น. ณ ห้องประชุมกำพล อดุลย์วิทย์ ชั้น 2 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี พร้อมด้วยผู้บริหารและบุคลากรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าร่วมในมีพิธีเฉลิมฉลองการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องด้วยภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ได้รับอนุมัติให้จัดโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้มีงานวิจัยที่ก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีอวกาศขั้นสูง อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เรียนรู้เทคโนโลยีอวกาศขั้นสูง นับได้ว่าเป็น MoU ฉบับแรกที่ NASA ลงนามร่วมกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดย ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน พร้อมทั้งบรรยายพิเศษ เรื่องการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยสู่เป้าหมายด้านวิทยาศาสตร์อวกาศและเทคโนโลยีในอนาคต ต่อจากนั้น ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประธานในพิธีให้เกียรติกล่าวต้อนรับและบรรยายเรื่องบทบาทของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการทำความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและองค์การนาซ่า ตามด้วยการกล่าวแนะนำ Biological and Physical Sciences Division, NASA โดย Dr. Craig Kundrot, Director of Biological and Physical Sciences Division, NASA การกล่าวถึงบทบาทของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ในการทำความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และองค์การนาซ่า โดย ดร. ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กล่าวแนะนำ International Space Station (ISS), NASA โดย Dr. Krit Costello, Chief Scientist of the International Space Station (ISS), NASA จากนั้น Mr. James Wayman, Acting Deputy Chief of Mission, The United States Embassy in Bangkok บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ความร่วมมือของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยในฐานะคู่ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ตามด้วยการกล่าวถึงความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ โดย Dr. Francis Chiaramonte, Program Scientist for Physical Sciences at NASA และลำดับสุดท้ายเป็นการกล่าวสรุปโครงการความร่วมมือด้านวิจัยในอวกาศ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม อาจารย์ผู้วิจัยหลักในโครงการความร่วมมือด้านวิจัยในอวกาศ
ทั้งนี้ ความร่วมมือด้านการวิจัย “ผลึกเหลวอวกาศ” หรือ Liquid Crystal ร่วมกับ NASA โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิชาติ พัฒนโภครัตนา อาจารย์จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทีมนักวิจัยไทยผู้บุกเบิกงานวิจัยเรื่อง Liquid Crystal มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการศึกษาคุณสมบัติของ Complex Fluid หรือของไหลที่มีความซับซ้อนในสถาวะไร้แรงโน้มถ่วงเพื่อศึกษาจุดบกพร่องของโครงสร้างผลึกเหลวซึ่งเกิดจากผลของการเปลี่ยนแปลงของความร้อน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในจอภาพแบบ LCD โดยมีกำหนดการศึกษาวิจัยภาคพื้นดินในช่วงปี 2562-2565 และจะทำการวิจัยในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงบนอวกาศ ที่สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station ) ในปี 2566
อนึ่ง โครงการนี้เป็นโครงการวิจัยด้าน Frontier Research ซึ่งตอบสนองนโยบายยุทธศาสตร์การวิจัยและนวตกรรมแห่งชาติ 20 ปี และเป็นครั้งแรกที่โครงการวิจัยของนักวิจัยไทยได้รับการคัดเลือกให้ทำการทดลองในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงร่วมกับ NASA ที่สถานีอวกาศโดยโครงการฯจะมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2562 – 30 กันยายน 2567 ณ ประเทศไทย ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศญี่ปุ่น และประเทศที่มีพันธกิจที่เกี่ยวข้อง ความร่วมมือในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่แห่งวงการวิทยาศาสตร์ไทย และอาเซียน รวมถึงเป็นการยกระดับความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาที่มีร่วมกันมาอย่างยาวนานอีกด้วย