นาย พชรวิช วิไลแก้ว

คณะวิทยาศาสตร์ ศรีราชา ป.ตรี ชั้นปีที่ 3

the 20th International Students Summit, Tokyo University of Agriculture, Japan

             เนื่องด้วยมหาวิทยาลัยเกษตรแห่งโตเกียว (Tokyo NODAI) ที่ได้เล็งเห็นปัญหาด้านความมั่นคงด้านอาหารและภาวะทุพโภชนาการ จึงได้จัดงาน "International Students Summit (ISS)" ซึ่งจัดมาตั้งแต่ปี 2544 เพื่อให้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยพันธมิตรระดับโลกได้มีโอกาสในการรวบรวม และ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาอาหาร การเกษตร และ สิ่งแวดล้อม ตลอดไปถึงการหารือเกี่ยวกับบทบาทของตนเองในการพัฒนาการเกษตรให้ยั่งยืนต่อไปในภายภาคหน้า โดยสิ่งสำคัญที่โครงการให้ความสนใจคือความคิดและองค์ความรู้จากเยาวชนซึ่งเป็นผู้ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในภายภาคหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักศึกษาที่เรียนรู้เกี่ยวกับด้านเกษตรกรรม ที่มีจะมีบทบาทที่สำคัญในอนาคตเกี่ยวกับการแก้ปัญหาขั้นพื้นฐานในการผลิตอาหาร และ ความปลอดภัย, การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม, พลังงาน และ สุขภาพของมนุษย์

             ณ ปีนี้ถือเป็นครั้งที่ 20 ของโครงการ ISS โดยได้มีการจัดงานขึ้นมาภายในวันที่ 14-17 กันยายน พ.ศ.2564 ภายใต้หัวข้อ “Linking Actions, Research and Education in Agriculture Value Chains to Achieve Environmental, Social and Economic Sustainability.” ซึ่งหัวข้อในแต่ละปี จะเกิดขึ้นมาจากการรวบรวมความคิด และ การแลกเปลี่ยนความรู้ จากโครงการรอบที่ผ่านมา และเนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน งานนี้จึงถูกจัดขึ้นแบบออนไลน์ทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มจนจบโครงการ โดยได้รับการช่วยเหลือจากทุกๆฝ่าย จนเสร็จสิ้นไปได้ด้วยดี

ส่วนที่ 2 ประโยชน์ที่ได้รับและการขยายผลจากการเข้าร่วมโครงการ


ประโยชน์ต่อตนเอง

             เป็นโอกาสที่ส่วนตัวไม่เคยคาดคิดว่าจะได้รับโอกาสดี ๆ แบบนี้ เนื่องจากส่วนตัวเรียนอยู่ในภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และ สารสนเทศ ซึ่งดูห่างไกลจากการเกษตรมาก แต่ว่าก็มีทางพ่อของผม ที่สนใจเกี่ยวกับด้านการเกษตร ซึ่งเราก็เคยได้คุยกันอยู่ไม่น้อยว่า น่าจะดีเหมือนกัน ถ้าหากผมสามารถนำเอาเนื้อหาที่เรียนนำมาประยุกต์ใช้กับการเกษตรได้ นั่นจึงเป็นจุดที่ทำให้ผมจุดประกายอยากทำอะไรเกี่ยวกับการเกษตรขึ้นมา ผนวกกับ ณ ตอนนั้นได้ตัวผมได้ทำโปรเจคหนึ่งกับอาจารย์ที่ปรึกษาอยู่ และ อาจารย์ได้เล็งเห็นว่าผมน่าจะมีความสามารถมากพอในการเข้าร่วมโครงการนี้ อาจารย์จึงได้ลองให้เขียนบทคัดย่อที่ใช้ในการส่งเพื่อคัดเลือกนิสิตตัวแทนของมหาวิทยาลัยดู ซึ่งเอาจริงๆแล้วผมไม่เคยได้เขียนอะไรทำนองนี้มาก่อน แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์ที่ปรึกษา และ เพื่อน ๆ คนที่รู้จักต่าง ๆ คอยช่วยเหลือเอาไว้จึงทำให้บทคัดย่อของผมออกมาได้ดีที่สุด

             อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ในด้านการพัฒนาความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษของตนเองอีกด้วย เนื่องจากตามจริงแล้วก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ โดยส่วนตัวก็รู้สึกว่าพูดภาษาอังกฤษได้ในระดับที่สื่อสารได้ฟังรู้เรื่องโดยรวมถือว่าค่อนข้างดีกว่ามาตรฐานทั่วไป แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการจึงทำให้ได้รู้ว่าตนเองยังต้องใช้เวลาฝึกอีกมากเนื่องจากภาษาอังกฤษที่ฟังนั้นก็ไม่ได้มีแค่สำเนียงเดียว บางอันง่ายบางอันยากปะปนกันไป และ คำบางคำที่อยู่ภายในงานเป็นคำที่เราไม่คุ้นเคย ไม่ค่อยได้ใช้บ่อยๆ นั่นก็เป็นปัญหาเหมือนกันที่ทำให้สื่อสารได้ยากขึ้น เนื่องจากเราไม่สามารถรับสารที่ได้มาจากอีกฝ่ายได้อย่างครบถ้วน เพราะเราไม่รู้ว่าศัพท์ที่อีกฝ่ายพูดคืออะไร จากที่กล่าวมาทั้งหมด เลยทำให้ผมได้ตระหนักรู้ว่าตัวเองยังต้องฝึกและค้นหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ อย่าหยุดอยู่กับที่ และ ต้องเดินหน้าฝึกต่อไปอย่างเสมอ ๆ

             สุดท้ายเป็นประโยชน์ที่ขาดไม่ได้สำหรับผมเลยก็คือ การได้มีสัมพันธ์อันดีกับผู้คนในต่างประเทศ เพราะโดยส่วนตัวแล้วมีความใฝ่ฝันมาตลอดว่าอยากที่จะไปทำงาน หรือ เรียนในต่างประเทศมาโดยตลอด การได้เข้าร่วมโครงการนี้เลยดูเหมือนกับเป็นการเริ่มต้นที่ดีอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้ผมสามารถก้าวไปข้างหน้าในเวทีโลกได้อย่างมุ่งมัน และ มั่นใจมากขึ้น เหมือนกับเป็นการให้ได้ทดลองดูว่าความเป็นจริงมันเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าจะให้พูดกันตามจริง มันเหมือนกับฝันเลยครับ เพราะตัวผมเองก็ไม่เคยนึกมาก่อนเหมือนกันว่าจะสามารถมาได้ถึงขนาดนี้


ประโยชน์ต่อหน่วยงานต้นสังกัด

             เนื่องจาก ISS เป็นการร่วมงานกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลก จึงทำให้เป็นโอกาสที่ดีในการเสริมสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างมหาวิทยาลัยต่างๆ กับ มหาวิทยาลัยของเรา อีกทั้งยังเสริมสร้างชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยในเวทีโลกอีกด้วย


ประโยชน์ต่อสายงานหรือวงการวิชาชีพ

             เป็นพื้นที่ที่สามารถนำไอเดียหรือผลงานต่าง ซึ่งผลงานของผมที่ส่งไปจะเกี่ยวข้องกับทางเทคโนโลยี ซึ่งค่อนข้างดูจะแตกต่างจากการเกษตรมาก ๆ มานำเสนอในมุมที่ผู้ที่มีความสนใจทางด้านการเกษตรก็จะสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และ เข้าใจง่าย หรือ อีกนัยหนึ่งก็คือ การผนวกรวมระหว่างเทคโนโลยีเข้ากับการเกษตรเพื่อที่จะพัฒนาให้การเกษตรมีความล้ำสมัยมากขึ้น ซึ่งส่วนตัวผมมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ทุก ๆ สายอาชีพ จะได้พัฒนาไปด้วยกัน เพื่อให้มนุษยชาติทุกคนก้าวหน้าไปในอนาคตได้อย่างก้าวกระโดด และ แตกต่างจากการเกษตรในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าทางการเกษตรได้อีกด้วย


ผลลัพธ์ที่ได้จากโครงงาน

             ก่อนอื่นผมต้องบอกก่อนเลยว่าเป็นผลลัพธ์ที่ผมคาดไม่ถึงเลย เพราะส่วนตัวแล้วก็ไม่เคยคิดมาตั้งแต่แรกว่าจะได้เข้าร่วมโครงการที่ใหญ่มากขนาดนี้ แต่ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก ๆ เลยครับ แล้วผมก็ภูมิใจในตัวเองมาตลอดว่าในที่สุดแล้ว ”ตัวเราเองก็ได้ทำอะไรบ้างแล้วสินะ” ผมมีความคิดว่าอยากหาอะไรทำมาตลอดครับ แต่ด้วยปัญหาหลาย ๆ อย่างจึงทำให้ต้องถูกปัดตกไปทุกครั้ง กลับกันพอเป็นโครงการนี้ ผมรู้สึกว่าผมอยากจะคว้ามันเอาไว้ไม่ว่ายังไงก็ตาม ผมกลายเป็นคนที่พยายามมากขึ้นในการจะทำอะไร ๆ ซึ่งเป็นผลพลอยได้ที่ดีมาก ๆ เลยครับ ระหว่างที่ได้เข้าร่วม ISS ก็เหมือนเป็นการได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง ทั้งวัฒนธรรม การอยู่อาศัย หรือ จำพวกการใช้ชีวิตของผู้คนเกี่ยวกับด้านการเกษตรของหลาย ๆ ประเทศ แล้วก็ยังทำให้ผมได้ตระหนักรู้เกี่ยวกับความสามารถด้านภาษาอังกฤษของตัวเองอีกด้วย เพราะเมื่อได้อยู่ในเวทีโลกจริง ๆ แล้ว ความรู้เดิมของผมที่ค่อนข้างใช้งานได้ดีในไทย กลับกลายเป็นว่าใช้งานได้ไม่ดีเท่าที่ควรเลยครับ เลยเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ตอนนี้ผมกำลังพยายามหาอะไรพัฒนาให้กับตัวเองอยู่เสมอ ๆ ไม่ยอมอยู่กับที่ ต้องคอยพัฒนาไปเรื่อย อีกทั้งพอได้เห็นผลงานของผู้เข้าร่วมคนอื่น ๆ ก็ทำให้ได้แนวคิดอะไรดี ๆ กลับมาเยอะเลยล่ะครับ