น.ส.กานต์ชนิต กมลรัตนกุล

คณะสิ่งแวดล้อม ปริญญาโท ชั้นปีที่ 2

Special research student (April - June 2022) , Hokkaido University, Japan

      สวัสดีค่ะ ดิฉันกานต์ชนิต กมลรัตนกุล เป็นผู้เข้าร่วมโครงการ Special student research (SRS) ณ Hokkaido University, Sapporo Japan โดยที่มีอาจารย์ที่ปรึกษาอยู่ที่ Graduate schools of Environmental Science  วันนี้จะมาแชร์ประสบการณ์ รวมถึงบอกเล่ารายละเอียดโครงการทั้งหมดค่ะ


      โครงการ SRS เป็นโครงการที่ให้นิสิตมาวิจัยหัวข้อวิทยานิพนธ์ของตัวเอง โดยที่จะอยู่ภายใต้ความดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษาที่นี่ ฉะนั้นเป็นกฏของการสมัครโปรแกรมนี้เลยก็คือ เราต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษาก่อน! โดยที่เราจะยื่น proposal หัวข้อวิจัยของเราไปให้อาจารย์ หากอาจารย์เห็นว่างานของเราต่อยอดได้หรือน่าสนใจ ก็จะถือว่าผ่านขั้นตอนนี้ และทำการสมัครโครงการนี้ได้ค่ะ 




      ที่จริงเราได้สมัครเข้าโครงการช่วง Fall 2021 แต่ด้วยภาวะ COVID-19 ทำให้ประเทศญี่ปุ่นปิดประเทศ และไม่เปิดรับวีซ่าใหม่ โครงการจึงถูกเลื่อนมาและเกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2022 ค่ะ แน่นอนว่าเมื่อประเทศญี่ปุ่นเปิดแล้ว แต่เปิดให้นักเรียนและกลุ่มคนทำงานเข้าเท่านั้น และมีเอกสารและมาตราการต่างๆมากมาย โดยที่หากไม่มีเอกสารรับรองการพำนักที่มาจากมหาวิทยาลัยที่ฮอกไกโด ก็จะไม่สามารถยื่นวีซ่าได้ นอกจากนั้นแล้วยังมีเอกสารพิเศษอีกมากมายที่ต้องเตรียม เช่น ผลตรวจโควิด RT-PCR ก่อนขึ้นเครื่อง 72 ชั่วโมง  ใบบันทึกอุณหภูมิร่างกายก่อนบิน 7 วัน ใบรับรองวัคซีน และอีกมากมายใครที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบตามที่กำหนด จำเป็นต้องกักตัวก่อนเข้าประเทศโดยออกค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง ตัวเราเองได้ฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ทำให้ไม่ต้องกักตัว แต่จะต้องมีการติดตั้ง Application เพื่อติดตามสุขภาพหลังเดินทางเข้าประเทศ 7 วันด้วยค่ะ ภายใน7วันนี้จะมีคนติดต่อมา ถ้าเราไม่ตอบเพื่อแจ้งอาการ และสุขภาพของเรา อาจจะโดนติด Black list ไม่ได้เข้าประเทศอีก 




การเดินทางเข้าประเทศ 

การเข้าประเทศ (อ้างอิงมาตราการ08/04/2022) ในภาวะโควิดทำให้ยังไม่มีบินตรงไปที่ Sapporo เราจึงต้องจองไปลงที่นาริตะ (โตเกียว) ใช้เวลาทั้งหมด6ชั่วโมง และต่อเครื่องในประเทศไปที่ชินชิโตเสะ (ซัปโปโร) ถ้าลองนึกภาพง่ายๆโตเกียวคือกรุงเทพ ซัปโปโรคือเชียงใหม่ จะมีอากาศค่อนข้าวหนาวและคนจะไม่พลุกพล่านเท่าเมืองหลวงค่ะ หลังจากที่ทุกคนลงจากเครื่อง จะต้องทำ COVID test ทันทีด้วยการ test น้ำลาย (ขอน้ำลายไปเยอะมาก ทุกคนต้องพยายามพ่นมันออกมา แต่บนกำแพงจะมีรูปบ๊วย และรูปมะนาวพร้อมกับคำว่า “imagine”) จากนั้นการมีการตรวจสอบเอกสารไปเรื่อย 4-5 จุด และหยุดรอผลตรวจ 1 ชม ถ้าผลเป็น negative เขาจะเรียกเราไปรับและเข้าสู่กระบวนการ immigrataion ได้ตามปกติค่ะ ช่วงเดือนเมษาคือเวลาที่เพิ่งหมดฤดูหนาวและเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ซากุระจะค่อยๆบานจากใต้ขึ้นไปเหนือ ตอนนี้โตเกียว 15องศา แต่แดดค่อนข้างแรงไม่แพ้กรุงเทพเลย หลังจากกระบวนการทั้งหมด เราทำการต่อเครื่องมาที่สนามบิน New chitose airport และต่อรถไฟเข้ามาในเมืองซัปโปโรเพื่อไปที่หอค่ะ 


การเป็นอยู่

หอพัก :


       

       เป็นหอของมหาวิทยาลัย ก่อนหน้านี้เขาจะมีฟอร์มมาให้เรากรอกว่าต้องการจะสมัครเข้าหอไหน จะมีให้เลือก 4-5 แบบ ราคาก็จะแตกต่างกันไปตามรูปแบบ ส่วนหอพักที่เราอยู่คือ International House Kita8 Building5 ซึ่งเป็นตึกผู้หญิงเท่านั้น เป็นตึกเดียวที่จะเป็นห้องเดี่ยวและมีห้องน้ำแยก ครัวแยกในตัว และแน่นอนว่าราคาก็จะแพงกว่าตึกอื่นๆที่ส่วนมากเป็น common space ค่ะ ค่าใช้จ่ายสำหรับหอจะประกอบไปด้วย ค่าห้อง+ค่าน้ำไฟ+ค่าแก๊ส+ค่าส่วนกลาง ถ้าอากาศหนาวเปิดฮีทเตอร์เยอะค่าแก๊สก็จะสูง ส่วนอาหารก็จะมีซุปเปอร์มาเกตให้เราเลือกซื้อวัถุดิบมาทำอาหารทานเองในราคาไม่สูงมาก และสามารถประหยัดได้เยอะมาก แต่ใน Sapporoเองก็มีร้านอาหารเยอะมากๆหลากหลายระดับ แล้วแต่ความชอบและงบประมาณ ใครที่คิดถึงอาหารไทยก็มีร้านอาหารไทยชื่อ GAPAO (กระเพรา) อยู่หน้ามหาวิทยาลัยเลย 


อากาศ : 


     

       วันที่บินมาถึงที่นี่ เป็นต้นเดือนเมษายน กำลังจะเข้าฤดูใบไม้ผลิซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่หิมะตกพอดี อากาศประมาณ 3 องศาเซลเซียสแต่จะมีลมค่อนข้างแรง สำหรับคนไทยแล้ว คิดว่าหนาวมากๆเลยค่ะ ฉะนั้น ใครที่คิดว่าจะมาร่วมโครงการที่ฮอกไกโดในช่วงปลาย-ต้นปี ต้องเตรียมใจกับความหนาวมามากๆเลยค่ะ เพื่อนเล่าให้ฟังว่าหิมะสูงมากๆ เดินทางลำบากมากค่ะ แต่พอหลังจากนั้น ช่วงเดือนเมษายน อากาศจะอุ่นขึ้นเรื่อยๆ ซากุระบาน ดอกไม้บาน เป็นฤดูดอกไม้ผลิ จากนั้นก็จะเข้าหน้าร้อน บางวันก็จะมีฝนตก ทำให้เครื่องแต่งกายในแต่ละวันมีความแตกต่างกันมาก ต้องเตรียมดีๆและตรวจเช็คสภาพอากาศก่อนออกจากห้อง ส่วนช่วงกลางมิถุนายนแดดจะเริ่มแรงมาก แล้วก็แอบร้อนคล้ายๆเมืองไทยช่วงหน้าหนาว แต่ดีที่ลมเย็น พอพระอาทิตย์ตกอากาศก็กลับมาเย็นลงอีกครั้ง บางวันมีทั้งร้อน หนาว ฝนในวันเดียว 


การเรียน 


     

      ตัวเราเองยังไม่สามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้คล่อง อาจจะเข้าใจได้แค่คำง่ายๆ แต่ใช้ในการเรียนหรือทำเอกสารจริงจังไม่ได้ โชคดีที่ Laboratory ที่เราไปอยู่เป็น International เนื่องจาก Supervisor เป็นคนอินเดียที่เรียนญี่ปุ่นมานาน ทำให้มีนักเรียนจากทั่วโลกเช่น เวียดนาม Southaffrica จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่นก็มีค่ะแต่ต้องสื่อสารกันเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้ไม่มีปัญหาในการสื่อสาร เราจะมี Lab meeting ทุกๆสองอาทิตย์เพื่อเล่าความคืบหน้าหัวข้อวิจัยของเราให้เพื่อนและเซนเซฟัง และจะมีสัมมนาประจำภาคที่จะเรียนรวมกับแลปอื่นๆ และจะได้เจอเซนเซจากแลปอื่นด้วย หลังจากพรีเซนงานของตัวเองก็จะมีคอมเมนต์จากเซนเซที่เราต้องนำไปปรับปรุงแก้ไข วนไปแบบนี้จนกว่าวิจัยจะเสร็จ ถ้าเป็นปโทปีหนึ่งก็จะมีเรียนเลคเชอร์ด้วย แต่เราไม่ได้เรียนและไม่มี coursework ใดๆ ตามรายละเอียดของโปรแกรมแลกเปลี่ยน แต่ถ้าใครอยากฝึกภาษาญี่ปุ่น ก็จะมีคลับต่างๆให้ลงทะเบียนไปเรียนได้ฟรีๆอีกด้วย  



      สิ่งแวดล้อมในการเรียนค่อนข้างดี อาจารย์จะคอยให้คำแนะนำตามโปรเจคต่างๆ หรือบางทีเราก็สามารถไปช่วยโปรเจคของเพื่อนก็ได้ ช่วยโปรเจคของอาจารย์บ้าง ในแลปนี้ทุกคนค่อนข้างมีอิสระในการทำงานของตัวเองค่ะ ก็คือไม่กำหนดเวลาเข้าออก จะมากี่โมงหรือกลับกี่โมงก็ได้ ขอแค่งานสำเร็จตามเป้าหมายก็พอ ฉะนั้นเราก็จะเห็นการจัดการโปรเจคของตัวเองในรูปแบบต่างกันออกไป บางคนถนัดปั่นงานตอนเช้า บางคนโต้รุ่ง บางทีก็จะมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในป่าโดยการบินโดรนเรื่อยๆค่ะ บางคนก็สมัครใจไปเอง บางคนก็ต้องไปเพราะเกี่ยวข้องกับชุดข้อมูลนั้นๆ ถ้าไม่กลัวร้อน กลัวหนาว กลัวลำบากยกของหนัก ก็ถือว่าได้เที่ยวไปในตัวเลยค่ะ ส่วนความสัมพันธ์ของเพื่อนในแลป เป็นไปอย่างน่ารัก เพราะต่างคนต่างมากันคนละประเภท บางทีก็จะชวนกินไปกินข้าว ไปเทศกาลประจำเมือง ขี่จักรยานไปที่ไกลๆ และคอยปรึกษากันทั้งเรื่องเรียนและความเป็นอยู่ได้ดี บางวัน เราก็จะมีปาร์ตี้ (ในตึกคณะ) เช่นปาร์ตี้ต้อนรับสมาชิกใหม่ ปาร์ตี้ยินดีกับรุ่นพี่ปริญญาเอกที่สอบผ่านไปได้ด้วยดี 



สรุป


ตลอดระยะการร่วมโครงการ 3 เดือน ที่มหาวิทยาลัยฮอกไกโด ทำให้ได้ประสบการณ์ดีๆมากมาย ได้เจออาจารย์ที่ดี ได้ทดลองทำโปรเจคเรียนต่างๆที่แน่นอนว่ายาก ไม่เคยทำ แต่ก็ได้เรียนรู้สิ่งใหม่มากมาย ได้รับมิตรภาพดีๆจากเพื่อนทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย และยังโชคดีมีโอกาสเดินทางไปในสถานที่ต่างๆรอบฮอกไกโด เป็นสิ่งที่ทำให้ย้ำกับตัวเองว่าโลกใบนี้กว้างแค่ไหน ไม่มีขาวไม่มีดำ ทุกคนมีแนวทางเป็นของตัวเอง ฉะนั้น ก็แค่เป็นตัวของตัวเอง และตั้งใจทำให้สิ่งที่ตัวเองรักโดยไม่เบียดเบียนใคร เท่านี้น่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องแล้ว 


ขอบคุณอาจารย์ที่ปรึกษาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ช่วยเรื่องเอกสาร และคอยสอบถาม ดูแลทั้งด้านการใช้ชีวิตและหัวข้อวิทยานิพนธ์ ขอบคุณกองวิเทศสัมพันธ์ที่ให้โอกาสดีๆ ในโครงการแลกเปลี่ยนนี้ เป็นการก้าวออกจาก comfot zone ได้เจอโลกใหม่ และทำให้ความฝันในชีวิตสำเร็จลุล่วง ขอบคุณที่ช่วยติดต่อประสานงานกับทางมหาวิทยาลัยฮอกไกโด ตั้งแต่ปี 2564-2565 สุดท้ายนี้อยากแนะนำเพื่อนๆ ที่สนใจอยากลองเห็นโลกที่กว้างขึ้น และอยากต่อยอดความรู้ที่มี ให้ลองเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนที่ตัวเองสนใจ เพื่อสัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ๆครั้งหนึ่งในชีวิตค่ะ